โลโก้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

มีทักษะการสื่อสาร เชี่ยวชาญปฏิบัติ  สร้างนักปฏิบัติมืออาชีพ

สมัครเรียน

สมัครงาน

-A A +A

วช. - กอ.รมน. นำผลงาน เครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย มทร.ศรีวิชัย เพิ่มมูลค่าสมุนไพรชุมชน จังหวัดสระบุรี

 

ผศ.จีระศักดิ์ เพียรเจริญ และ รศ.ดร.จารุวัฒน์ เจริญจิต จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี        ราชมงคลศรีวิชัย เผยนำนวัตกรรมเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยน้ำและไอน้ำ ลงพื้นที่ ณ ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต.บ้านลำ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในความร่วมมือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างผลิตภัณฑ์ OTOP เพิ่มมูลค่าสมุนไพรในชุมชน

นวัตกรรมเครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยใช้น้ำและไอน้ำ ที่มีข้อดี คือ สามารถใช้กับวัตถุดิบได้หลากหลายประเภทกว่าวิธีอื่น และยังมีประสิทธิภาพสูง ใช้เทคนิคที่ไม่มีความซับซ้อน โดยเกษตรกรหรือชุมชนสามารถใช้งานได้เอง เตรียมนำองค์ความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้กับศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต.บ้านลำ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี สกัดพืชสมุนไพรที่มีอยู่แล้วในชุมชน อาทิ ใบมะกรูด ผลมะกรูด และตะไคร้หอม ช่วยให้ชุมชนมีความต้องการที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สร้างความตระหนักด้านสมุนไพรไทยให้เป็นที่นิยม

เครื่องสกัดน้ำมันหอมระเหย ภายในถังต้มหรือหม้อกลั่น จะมีตะแกรงสำหรับใส่วัตถุดิบสมุนไพรปริมาณครั้งละ 5 กิโลกรัม ไว้เหนือระดับน้ำ จากนั้นจึงปิดฝาและล็อคให้สนิท ทำการเติมน้ำสะอาดปริมาณ 20-25 ลิตร เข้าไปในถัง โดยการใส่ให้เหนือระดับฮีตเตอร์เพียงเล็กน้อย เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน ให้ความร้อน ด้วยกำลังไฟ 3,500 วัตต์ เมื่อน้ำเดือดจนกลายเป็นไอน้ำที่อิ่มตัวหรือไอเปียก ใช้เวลา 40 นาที ไอน้ำจะลอยไปสัมผัสกับวัตถุดิบซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำร้อน ไอน้ำจะไปละลายสารเคมี และน้ำมันที่อยู่ที่วัตถุดิบ จนลอยไปปะปนกับไอน้ำ และเข้าไปยังถังคอนเดน ไอน้ำภายในท่อจะสัมผัสกับน้ำหล่อเย็น ที่มีการควบคุมอุณหภูมิน้ำให้อยู่ที่ ประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิปกติ ทำให้ไอน้ำเปลี่ยนสภาพกลายเป็นของเหลว ซึ่งมีน้ำและน้ำมันปะปนมาด้วย การกลั่นใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง จนได้เป็นน้ำกลั่น หรือ น้ำที่มีการแยกเป็น 2 ส่วน คือ น้ำมันจากสมุนไพรที่ลอยอยู่ด้านบน และน้ำจากการกลั่นที่อยู่ด้านใต้ ได้ปริมาณน้ำมัน 30-50 cc โดยสามารถนำน้ำทั้ง 2 ส่วน มาแยกออกจากกันด้วยวิธีการค่อย ๆ เทออกมานั่นเอง ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันจากการสกัดจากพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดสมุนไพร และอุณหภูมิน้ำที่มีการควบคุมไว้ การกลั่นโดยวิธีนี้พืชที่กลั่นจะไม่สัมผัสกับความร้อนโดยตรง ทำให้น้ำมันหอมระเหยมีคุณภาพสูง

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวได้นำไปติดตั้งให้กับชุมชนจังหวัดสระบุรีเรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้ ทีมนักวิจัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อยู่ในช่วงการพัฒนาด้านมาตรฐานน้ำมันหอมระเหย และเรียนรู้การสร้างผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากแพทย์แผนไทย เพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น สเปรย์ฉีดกันยุง สเปรย์ปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ลดกลิ่นอับ หรือแม้แต่ สเปรย์ที่สามารถหยดลงไปในอาหารได้ เพื่อเตรียมนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชน หวังจะพัฒนาเป็นสินค้าOTOP สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนต่อไป